ผมได้รับหนังสือเรื่อง “เจาะจุดแข็ง” หรือ Now, Discover your strengths โดย Marcus Buckingham และ Donald O. Clifton จากทางเนชั่นบุ๊คส์มาครับ ทราบมาว่าเป็นหนังสือที่มีชื่อเสียงมากใน Corporate ต่างชาติ
พล็อตใหญ่ของหนังสือเล่มนี้อาจจะขัดแย้งกับความเชื่อที่ผ่านมาของพวกเราว่า “จุดอ่อนคือสิ่งที่เราควรปรับปรุง” เปลี่ยนเป็น “เราควรพัฒนาจุดแข็งของเรา มากกว่าใส่ใจกับจุดอ่อน” หัวเรื่องน่าสนใจแบบนี้เลยนั่งลงตั้งใจอ่านดูครับ
ความขัดแย้งของความเชื่อ
สิ่งที่สัมผัสได้ตั้งแต่หน้าแรกๆ คือความขัดแย้งของความเชื่อกับสิ่งที่หนังสือพยายามสื่อสาร ซึ่งเป็นประเด็นน่าสนใจว่าด้วย มนุษย์เดินดินทั่วไปอย่างผม จะเห็นข้อเสียหรือ “จุดอ่อน” ของตัวเองเต็มไปหมด แต่กลับไม่ค่อยใส่ใจกับ “จุดแข็ง” ที่ตนเองมีมากนัก
เรามักพยายามใส่ใจทำให้ตัวเรามีคุณสมบัติที่เพียบพร้อมทุกด้าน ใส่แรงลงไปปรับปรุงข้อเสียต่างๆ ของตัวเราให้สมบูรณ์ที่สุด แต่ในความเป็นจริงนั้น เราสามารถใส่ใจพัฒนาตัวเราจริงๆ ได้เพียง 2-3 เรื่องเท่านั้น หนังสือเล่มนี้เลยบอกว่า แทนที่จะเสียเวลาแก้จุดอ่อน เราเอาเวลามาพัฒนาจุดแข็งกันดีกว่า
ทำไมเราแต่ละคนถึงแตกต่างกัน
เหตุและผล ที่มาของแนวคิด ก็มีหลักทางการแพทย์รองรับดีนะครับ แต่ผมก็ยังเชื่อบ้างไม่เชื่อบ้าง เพราะผมไม่ได้มีความรู้ทางด้านนี้มากนัก
หนังสือเล่มนี้อธิบายว่า มนุษย์แต่ละคนมีความแตกต่างกัน เนื่องจากการพัฒนาสมองและระบบประสาทที่แตกต่างกัน อวัยวะส่วนนี้จะพัฒนาหรือไม่ก็ตายไปเท่านั้น อะไรที่ตายไปแล้ว ก็จะไม่พัฒนาอีก เราจึงเหลือชุดของระบบประสาทและสมองที่ทำงานได้ดีแตกต่างกันไป บางคนอาจประสานคลื่นไฟฟ้าในสมองซีกขวาได้ดีกว่า หรือสามารถคำนวณได้เร็ว ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการพัฒนาระบบประสาทนี้เอง
Strength Finder
อ่านไปครึ่งเล่มอย่างเมามัน เนื้อหาครึ่งเล่มแรกเป็นการเปิดโลกและแนวคิดใหม่ๆ ที่น่าสนใจ พร้อมนำเสนอแบบทดสอบหา “จุดแข็ง” หรือ “Strength Finder” ซึ่งมีรหัสแถมมากับหนังสือด้วย โดยแบบทดสอบนี้จะให้ผลเป็นจุดแข็งที่โดดเด่นที่สุดของเรา 5 ข้อ จากจำนวนทั้งหมด 34 จุดแข็งซึ่งเป็นผลจากการวิจัยจากกลุ่มตัวอย่าง แล้วแนะนำให้เรา “โฟกัส” ในการหาประโยชน์และพัฒนาจุดแข็งที่เรามี
จุดแข็งของเราที่ได้จากการทำแบบทดสอบ 5 จุดแข็ง จะมีลำดับแตกต่างกัน มากน้อยแตกต่างกัน เราสามารถหาว่าจุดแข็งของเราคืออะไร แล้วเอาไปใช้ทำอะไรได้บ้างในอาชีพการงาน และการใช้ชีวิต
แบบทดสอบ Strength Finder เป็นการสรุปผลจาก Gallup บริษัท Research ที่มีชื่อเสียง โดยทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 2 ล้านคน ผลจากที่ผมได้มาก็ค่อนข้างตรงนะ 5 อันดับลักษณะเฉพาะที่เป็นจุดแข็งของผมคือ
- แสวงหาความเป็นเลิศ (Maximizer)
- การปรับตัว (Adaptability)
- การสื่อสาร (Communication)
- อนาคต (Futuristic)
- มองโลกในแง่ดี (Positivity)
ลองอ่านความหมายจากในหนังสือแล้ว (ซึ่งยาวมากกกก) ก็ตรงใช้ได้เลยนะครับ แม้ว่าจะไม่ค่อยรู้สึกว่าตัวเองมองโลกในแง่ดีก็ตาม (ฮา)
เอาไปใช้ยังไง?
บอกตรงๆ ว่าจุดอ่อนของหนังสือเล่มนี้ คือการอธิบายในครึ่งเล่มหลังว่า หลังจากที่หาจุดแข็งประจำตัว 5 ข้อ ออกมาได้แล้ว เราจะเอาไปปรับใช้ได้อย่างไร? เราจะพบตัวอย่างมากมาย (ซึ่งค่อนข้างน่าเบื่อและน้ำเยอะ) ในครึ่งหลังของหนังสือ ซึ่งไม่เป็นประโยชน์มากนัก
ส่วนตัวผมคิดว่าทางผู้เขียนเอง อาจจะยัง “กั๊ก” เนื้อหาส่วนนี้ไว้
หรือไม่เช่นนั้น ความสามารถในการเอา “จุดแข็ง” ไป “ต่อยอด” อาจต้องการที่ปรึกษาเฉพาะด้าน ต้องการผู้เชี่ยวชาญ ไม่มีสูตรสำเร็จ เลยไม่สามารถระบุออกมาเป็นเนื้อความได้
โชคดีที่ผมพอจะมีผู้ที่เคยไปอบรมหลักสูตรนี้ผ่านทางโครงการของ Unilever เลยลองปรึกษาแล้วก็พบว่า การเอาจุดแข็งนี้ไปพัฒนาก็เป็นประโยชน์ไม่น้อยเลย
อย่างไรก็ดี ทฤษฎีนี้ก็น่าสนใจ โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานมีลูกน้อง ต้องการพัฒนาความสามารถของลูกน้องในทีม ควรจะเรียนรู้ไว้เพื่อเป็นแนวทางเบื้องต้น อย่างน้อยก็เพื่อเป็น “เข็มทิศ” ให้เราสามารถหันหัวเรือไปได้ถูกทาง
สรุป
- หนังสือเล่มนี้มีแนวคิดใหม่ที่ดี น่าสนใจ และควรศึกษา
- ความเข้าใจเกี่ยวกับทฤษฎี งานวิจัย เขียนได้ดี เข้าใจง่าย
- Strength Finder เป็นเครื่องมือที่ดี ควรลองทำสักครั้งในชีวิต
- เนื้อหาครึ่งเล่มหลังน่าเบื่อ และเนื้อน้อย
- ผู้ที่มีลูกน้องในทีม ควรลองอ่านและแนะนำให้ลูกน้องทำแบบทดสอบ Strength Finder ด้วย
- ถ้าจะให้ดี ลองคุยกับคนรู้จักที่ทำงานใน Unilever ระดับ Manager ขึ้นไป จะสามารถให้คำปรึกษาเรื่องนี้ได้ครับ
ชื่อหนังสือ (อังกฤษ) : Now, Discover your strengths
ชื่อหนังสือ (ไทย) : เจาะจุดแข็ง
สำนักพิมพ์ : เนชั่นบุ๊คส์
ผู้เขียน : Marcus Buckingham และ Donald O. Clifton
ผู้แปล : เอธ แย้มประทุม
ราคา : 375 บาท
เลขมาตรฐานสากล (ISBN) : 9786165155861 (ปกอ่อน) 288 หน้า